วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เมื่อเราทำเว็บไซต์ขึ้นมาแล้ว  มีเนื้อหาสาระ หรือบทความพอสมควรแล้ว  จัดหน้าตาองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ดูว่าลงตัว และดูดีแล้ว  เราก็อยากให้มีคนเข้ามาอ่าน หรือเข้ามาเยี่ยมชมกันมาก ๆ ใช่มั๊ยครับ(มีใครทำเว็บไซต์ไว้ดูคนเดียวมั่ง)  บทความนี้จะเสนอแนวทาง วิธีการที่จะทำให้เว็บไซต์ของท่าน เป็นที่รู้จักในโลกอินเตอร์เน็ตอันกว้างใหญ่
     สมมุติว่าโลกอินเตอร์เน็ต เหมือนกับอวกาศ แล้วเว็บไซต์คุณเป็นเพียงดาวเคราะห์เล็ก ๆ(ไม่มีแสงในตัวเองด้วย) จะทำยังไงให้คนรู้ว่าเว็บไซต์ของคุณมีตัวตน จะรอให้นักดาราศาสตร์ค้นพบคงอีกนาน  มาดูทางลัดที่จะทำให้เว็บไซต์คุณโดดเด้งขึ้นมาในจักรวาลอินเตอร์เน็ตอันกว้างใหญ่
     SEO หรือ Search Engine Optimization คือการเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหาเว็บไซต์ของเรา บนเครื่องมือค้นหา อันดับ 1 ของโลก อย่าง Google (ที่เหลือก็เช่น Bing.com , Yahoo , MSN )  กล่าวคือ เมื่อผู้คนพิมพ์คำค้นบางคำที่ตรงกับ tag หรือ keyword ที่มีในเว็บไซต์เรา แล้ว  Google จะแสดงผลการค้นหาที่มีเว็บไซต์เราอยู่ในนั้นด้วย ยิ่งได้อันดับต้น ๆ หรือ ติดหน้าแรก Google ถือว่าเป็นสุดยอดปรารถนาของเว็บมาสเตอร์ทั้งหลาย
     การทำ SEO นั้นประกอบด้วย ปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก ดังนี้
     ปัจจัยภายใน คือการปรับแต่งเว็บไซต์ของเราในจุดต่าง ๆ ดังนี้
  1. โครงสร้างเว็บไซต์ที่เป็นมิตรกับ SEO อาทิ  ใส่เทมเพลตที่ปรับ SEO มาแล้ว หรือ ตั้งค่า meta tag และ description ที่ตรงกับเนื้อหาในเว็บเราที่สุด , มีเมนูที่เข้าถึงได้ทุกส่วนของเว็บ หรือบทความ
  2. KeyWord  เช่น เราทำเว็บให้ความรู้เรื่องปลากัดไทย ดังนั้น KeyWord หลักของเว็บเราคือ "ปลากัดไทย" ดังนั้นชื่อเว็บไซต์ หรือ DomainName ก็ต้องเกี่ยวข้องหรือมีคำว่า "ปลากัดไทย" เป็นส่วนประกอบด้วย  ส่วนเนื้อหาหรือบทความอื่น ๆ นั้น ก็ควรจะสอดคล้องกับ คีย์หลัก เช่น วิธีเพาะพันธ์ปลากัดไทย , ประกวดปลากัด ฯลฯ   ซึ่งเหมือนการใส่ tag ในบล็อกเกอร์ หรือ wordpress นั่นเอง
  3. การเพิ่มเนื้อหาสม่ำเสมอ การทำเว็บไซต์ถ้ามีเนื้อหาใหม่สด อยู่ตลอด อย่างน้อย 1 - 2 วันต่อบทความ(ถ้าขยันจะมากกว่านี้ก็ไม่ผิดกติกาครับ) เพื่อให้ บอท ของกูเกิ้ลเก็บข้อมูลไปทำสารบัญ ยิ่งมีหน้าเว็บ หรือบทความมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะเป็นผลดีต่ออันดับในหน้ากูเกิ้ลครับ
  4.  Link ภายใน ช่วยได้  กรณีที่เรามีบทความหลากหลาย  แต่ละบทความมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกัน หรือมี KeyWord เดียวกัน  เราสามารถทำลิงค์เชื่อมกันระหว่างบทความ หรือ ลิงค์ไปคีย์นั้น ๆ ได้(คีย์เวิร์ดนึงอาจมีหลายบทความที่เกี่ยวข้อง)  ทำให้หน้าเว็บทุกหน้าเชื่อมต่อถึงกัน และมีโอกาสผ่านตาผู้ชมเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ชมเว็บอยู่กับเว็บเรานานขึ้นอีก
  5. ภาพประกอบก็สำคัญนะ คุณสามารถสั่งให้กูเกิ้ลค้นภาพต่าง ๆ ตามคำค้นได้ ภาพที่ขึ้นมาอันดับต้น ๆ จะมี ชื่อ หรือ คำบรรยายภาพ ที่ตรงหรือใกล้เคียงกับคำค้นที่สุด  ช่วยเพิ่มโอกาสเข้าชมในเว็บเราได้อีก

     ปัจจัยภายนอก คือการสร้างลิงค์เข้ามาเว็บไซต์ของเราด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
  1. ฝากลิงค์ตามเว็บบอร์ด เฟสบุ๊ก หรือ Social Media ต่าง ๆ ยิ่งเว็บบอร์ดดัง ๆ ที่คนเข้าเยอะ ๆ ก็ยิ่งดี  แต่ก็อย่าโพสจนเปรอะ สร้างความรำคาญให้คนอื่น  เอาแบบเนียน ๆ ดีกว่าครับ(เว็บบอร์ดส่วนใหญ่จะมีให้ฝากลิงค์ หรือ ติดลายเซ็นต์ที่เป็นลิงค์ ได้ครับ  ไปสมัครไว้เลย)
  2. Ping คือ การส่งสัญญาณให้ กูเกิ้ลบอท มาเก็บข้อมูลในเว็บเรา ทำเมื่อมีเนื้อหาใหม่เท่านั้นก็พอ อย่า Ping พร่ำเพรื่อ  เว็บไซต์ที่ให้บริการ Ping ซึ่งเป็นที่นิยม อาทิ https://pingler.com/ หรือที่  http://feedburner.google.com/fb/a/ping  ใส่ url เรา ก็กด ping ได้เลย
  3. ลงทะเบียน Web Directory ต่าง ๆ ถ้าเว็บภาษาไทยก็ที่ http://dir.sanook.com/ คลิ๊กตรง เพิ่มเว็บไซต์  ภาษาอังกฤษก็ที่ http://www.dmoz.org/ คลิ๊กตรง suggest URL  จริง ๆ มีอีกมากนะครับ ลองค้นดูในพี่กูเกิ้ลเอา
  4. ฝากลิงค์ที่เว็บประเภท Social Bookmarking พวกที่มีคำว่า dig ในโดเมนเนม นั่นแหละ หาดูในกูเกิ้ล เพราะบางอันอาจปิดรับสมาชิกไปแล้ว  ส่วนเว็บนอกที่นิยมกันมากก็คือ digg.com 
  5. ใช้ Google+(กูเกิ้ลพลัส) บริการจากกูเกิ้ล คล้าย ๆ กด Like ในเฟสบุ๊ก เสริมอีกแรง 

     ครับข้างต้นนี้เป็นวิธีแบบบ้าน ๆ พื้น ๆ ที่นำมาฝากกัน  ลองไปทำกันดูแล้วเปรียบเทียบก่อน-หลัง ครับ  ตอนต่อไปพอได้ปริมาณผู้เยี่ยมชมแล้ว  เรามาหารายได้กับเว็บของเรากันดูบ้างครับ